เมื่อตรวจไดอารี่นักศึกษา พบสถิติ ดังนี้...
.
1. “เพื่อน” มีความกังวลเรื่องเพื่อน ความสัมพันธ์ในห้องเรียน การคบเพื่อน การเรียนรู้นิสัยซึ่งกันและกัน แนะนำว่าค่อย ๆ เรียนรู้กันไป เพื่อนทุกคนมีข้อดีข้อเสีย รวมถึงตัวเรา จงมองความหลากหลายให้สวยงาม และ “เปลี่ยน(นิสัย)เพื่อนไม่ได้ ก็จงเปลี่ยน(คน)เพื่อน”
.
2. “ค่าใช้จ่าย” ค่าหอ ค่าอยู่ ค่ากิน ห่วงทางบ้านที่คอยส่งเรียน ไม่ค่อยมีเงินซัพพอร์ต ซึ่งถ้าคิดแบบนี้ต้องพยายามตั้งใจเรียนให้สมกับที่ท่านสนับสนุน ประหยัดได้ก็ประหยัด ลดค่าใช้จ่ายส่วนนั้นลง บริหารเงินให้เป็น ถามเสมอเวลาจะซื้ออะไร “จำเป็นหรือแค่อยากได้”
.
3. “การบ้าน” พอเรียนหลายวิชาบางช่วงก็มีงานเยอะ ทับซ้อนกัน ซึ่งหลีกเลี่ยงยาก เพราะแบบฝึกหัดหรือการบ้านคือบททดสอบความรู้ความเข้าใจ และความรับผิดชอบ จึงย้ำเสมอว่าไม่มีงานไหนยากหรือทำไม่ได้ ถ้าเราเข้าใจ ซึ่งแก้ได้ด้วยการถามครู หาความรู้เพิ่มเติม “การยกมือถามอาจดูโง่เพียงเสี้ยวนาที แต่ถ้าไม่ถามอาจจะโง่ตลอดไป”
.
4. “ความรัก” การมีแฟน มีความรักคือเรื่องที่สวยงาม คอยซัพพอร์ตพลังใจให้กันและกัน แต่อย่าให้เป็นทั้งหมดของชีวิต เรายังมีมิติอื่นที่น่าสนใจอีกมาก เรื่องของเพื่อน ครอบครัว เป้าหมายชีวิต และงานอดิเรก ตลอดจนแพชชั่นอื่น ๆ ฉะนั้น เมื่อเอาใจลงไปเล่นก็ต้องเผื่อใจ ต้องกอดตัวเองในขณะที่กุมมือคนอื่นด้วย
.
5. “นอน” บ่นว่าตื่นสาย ทั้ง ๆ ที่รู้ว่ามีสาเหตุจากการนอนดึก และส่งต่อเรื่องอื่น ๆ เช่น หลับในห้อง ร่างกายไม่สดชื่น เรียนไม่รู้เรื่อง ฉะนั้น เลิกส่องเขาแล้วไปนอนซะ
.
6. “ไอดอล” อวดดารา นักร้อง ที่ทำให้ใจฟู ครูก็พลอยยิ้มตาม อ่านไปขำไป โลกสดใสสีชมพู ถือว่ามีสรณะในการสร้างแรงบันดาลใจที่ดี อันนี้ส่งเสริม เห็นไหมว่า “รัก” ไม่จำเป็นต้องครอบครอง
.
7. “ชีวิตประจำวัน” สายนี้คือนึกเรื่องเขียนยังไม่ไปไหนมาไหน อาศัย เล่าเรื่องรูทีน ตื่นนอน มาเรียน กินข้าว กลับบ้าน วนไป ก็ไม่ว่าอะไร เพราะบางวันก็มีแทรกกิจกรรมอื่น ๆ มาบ้าง แต่ก็อยากอ่านอะไรมากขึ้นกว่าเดิมอยู่นะ
.
8. “นักข่าว” เหมือนได้อัปเดตและอินเทรนด์อยู่เสมอ เพราะไม่ว่าจะมีกระแสอะไร สายนี้เขาจะหยิบยกมาเล่าในไดอารี่ตลอด พลอยได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ ตามทันเหตุการณ์ปัจจุบัน และบางคนถึงขั้นวิพากษ์วาจารณ์อย่างเป็นเหตุเป็นผล ซึ่งเยี่ยมมาก ๆ
.
9. “รัฐบาล” สายนี้ก็ทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้าน ตรวจสอบการทำงานรัฐบาลอย่างสม่ำเสมอ อ่านไปก็ต้องหน้านิ่วคิ้วขมวดตาม บางครั้งก็หลุดขำ แซวกันไปมา สนุกดีเหมือนกัน
.
10. “คิดถึงบ้าน” โดยเฉพาะคาบที่เรียนวันศุกร์ เผยความสุข ความดีใจแบบลิงโลด โอดครวญและโหยหาอาหารฝีมือแม่ อยากไปกอดหมาหอมแมว ต่าง ๆ นานา จนครูเองก็อยากกลับเหมือนกัน ออกแนวดราม่า ซึ่งว่าเป็นแนวน่ารัก สไตล์ลูกแหง่มุ้งมิ้ง พอบางคนวันจันทร์แอบมีของฝากมาด้วย ถือว่าเป็นตัวอย่างที่ดี (ล้อเล่น)
.
11. “จิปาถะ” ไม่ว่าจะเขียนอะไรก็เขียนเหอะ ระบายความรู้สึก ก่นด่าโชคชะตาฟ้าดิน เล่าประสบการณ์ชีวิต ฯลฯ ให้ถือว่ามันคือช่องทางของการสื่อสารระหว่างเรา ให้สมุด ตัวหนังสือ หรือครูเป็นที่แบ่งเบาความรู้สึก และฝึกฝนการใช้ภาษาในการสื่อสารให้ชำนาญและช่ำชองยิ่งขึ้น
.
ไดอารี่ที่รัก
.
.
Text/photo : ครูนนท์
เพจ : ครูนนท์ - Krunon